
R3 มองกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลและโครงการทดสอบ CBDC ในอุตสาหกรรม Blockchain ไทยหนุนรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
On April 16, 2022 by adminผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้พูดคุยกับ “อามิต กอช” ถึงประเด็นเกี่ยวกับการเติบโตของอุตสาหกรรม Blockchain ในประเทศไทย รวมถึงมูลค่าตลาดของ R3 และมุมมองของบริษัทเกี่ยวกับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกาศการทดสอบใช้ CBDC ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้
นายอามิต กอช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและบริการแห่ง R3 เผยมูลค่าตลาดและมุมมองบริษัทเกี่ยวกับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลและโครงการทดสอบ CBDC ในอุตสาหกรรม Blockchain ไทยว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในทวีปเอเชียกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ทั่วภูมิภาคกำลังเริ่มมีการใช้สกุลเงินคริปโตฯ เทคโนโลยี Blockchain และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยในความเป็นจริงนั้น ทวีปเอเชียมีส่วนแบ่งตลาดการส่งออกธุรกิจเทคโนโลยีมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก และการใช้เทคโนโลยีของภูมิภาคนี้ในการรับมือกับสถานการณ์โควิดได้นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งหลังการแพร่ระบาด
สำหรับประเทศไทย ทุกคนต่างคุ้นเคยกับ Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) โดย Blockchain ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมสามารถทราบถึงการเคลื่อนไหวอย่างแน่นอนว่ามีเกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดขึ้นเมื่อใด และรับประกันว่าฝ่ายอื่นๆ ก็ได้เห็นในสิ่งเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีสื่อกลางเพื่อการรับรองข้อมูลและไม่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันในภายหลัง
ในขณะที่บริษัทหลายแห่งกำลังทดสอบการใช้โซลูชันขององค์กรซึ่ง R3 ในฐานะบริษัทซอฟต์แวร์ระบบ Blockchain เพื่อวิสาหกิจต่างๆ ทั่วโลก ได้บุกเบิกการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดิจิทัลผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์เพื่อการใช้งานเฉพาะด้านแก่ธุรกิจทุกรูปแบบในอุตสาหกรรม ซึ่งสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อามิต กอช รับหน้าที่เป็นผู้นำองค์กรระดับโลกแห่งนี้ โดยรับผิดชอบทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล การดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินงานลูกค้าและบริการการสนับสนุนระดับอาชีพ
ในส่วนของประเด็นทัศนะของ R3 เกี่ยวกับการเติบโตของอุตสาหกรรม Blockchain ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ เขากล่าวว่า Blockchain ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับองค์กรที่ต้องการลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และส่งเสริมให้องค์กรเดินหน้าสู่โลกธุรกิจที่ไร้พรมแดนในปี 2564 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ วิกฤตการแพร่ระบาดทั่วโลกของ Covid-19 ได้กลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยภาคธุรกิจการเงินถือเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการปรับตัว โดยธนาคารหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินด้านธุรกรรมการค้าให้ทำงานผ่าน Blockchain เช่น ธนาคาร DBS Bank, HSBC และ Standard Chartered โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกในเครือข่าย Contour ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม Corda ของ R3 ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการทำธุรกรรมการค้าแห่งอนาคต
สำหรับการเปิดตัวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น R3 เล็งเห็นว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสู่ระบบดิจิทัลอย่างมั่นคงเพราะต้องการยกระดับให้ประเทศเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมดิจิทัลแห่งภูมิภาค ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเติบโตด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่น โดยมีบริษัทสตาร์ตอัปและธุรกิจต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่หรือ Emerging Technology เพิ่มมากขึ้น เช่น Blockchain หรือ DLT
“เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงและผู้กำหนดกฎหมายในเมืองไทยเริ่มยอมรับในเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการเริ่มทดสอบเทคโนโลยี DLT อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมธุรกิจค้าส่งภายในประเทศและการโอนเงินข้ามพรมแดนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง และจนถึงขณะนี้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจมาก ประโยชน์ของ DLT ยังช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินจากคุณสมบัติการบันทึกข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และระบบอัตโนมัติที่กำหนดเงื่อนไขเองได้ผ่านสัญญาณอัจฉริยะ (Smart Contracts)”
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินดั้งเดิม เช่น ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ R3 ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจตั้งแต่ระดับพื้นฐานผ่านการใช้ Blockchain โดยเฉพาะในส่วนการค้าและตลาดการลงทุน ในขณะที่เรากำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงพร้อมกับบริษัทต่างๆ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่กำลังพัฒนาระบบบนแพลตฟอร์ม Corda เพื่อให้พวกเขาค้นพบแนวทางที่ดีเยี่ยมในการใช้เทคโนโลยี Blockchain ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมของพวกเขา
เมื่อถามถึงมูลค่าตลาดและการเติบโตของ R3 อามิต กล่าวว่า R3 เติบโตอย่างมั่นคงมาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2557 เราคาดว่ามูลค่าตลาดของเราจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก R3 กำลังขยายฐานลูกค้า เครือข่ายพันธมิตร ตลอดจนริเริ่มโครงการและแผนงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในแวดวงการเงินทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาล ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ต่อเนื่องของเรากับหน่วยงานที่กำหนดกฎหมายทั่วภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงการดำเนินงานให้สอดคล้องตามข้อกำหนดต่างๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐบาล
โดยเฉพาะการเติบโตที่น่าพึงพอใจของเราในภูมิภาคนี้ ยังได้แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อการประมวลผลข้อมูลที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทหลายแห่งในภูมิภาคตกเป็นเหยื่อของการละเมิดข้อมูลที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงองค์กรอย่าง Red Cross, HIV registry และ SingHealth ของสิงคโปร์ ผลลัพธ์คือองค์กรเหล่านี้ตรวจพบว่ามีประวัติบุคคลมากกว่า 1 ล้านรายที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งมีทั้งข้อมูลบุคคลและประวัติสุขภาพที่รั่วไหลออกไป ด้วยอัตราการเจาะข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การปกป้องข้อมูลจะถูกจัดอันดับให้เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญ ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าจึงมีความต้องการอย่างมากต่อการประมวลผลข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อปกป้องข้อมูลดิจิทัล และ R3 สามารถตอบสนองสิ่งนี้ได้อย่างดีเยี่ยมด้วย Conclave โซลูชันการประมวลผลข้อมูลที่น่าเชื่อถือของเรา ซึ่งได้รับการออกแบบสำหรับองค์กรที่กำหนดให้ “ความเป็นส่วนตัวสำคัญเป็นอันดับแรก”
เมื่อพูดคุยถึงเรื่องมุมมองของเขาเกี่ยวกับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัล และการประกาศการทดสอบใช้ CBDC ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ อามิต กล่าวว่า “ปัจจุบันเราเล็งเห็นสถาบันการเงินหลายแห่งให้คุณค่าอย่างมากกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น กรณีการแปลงทรัพย์สินปกติให้เป็นโทเคนดิจิทัล ไปจนถึง Stablecoin และ CBDC ซึ่งนี่คือสิ่งที่ R3 ทำงานโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต่างๆ เริ่มให้ความสนใจในการใช้ CBDC ในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงเมตาเวิร์สที่กำลังดึงดูดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่าบทบาทของสกุลเงินคริปโตฯ และสินทรัพย์ดิจิทัลจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ดังที่กล่าวไว้ การเติบโตนี้จะถูกจับตามองโดยกลุ่มผู้กำหนดกฎหมาย ซึ่งพวกเขาจะประเมินผลกระทบของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อตลาดการเงิน และแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อการันตีว่าสิทธิผู้บริโภคของนักลงทุนรายย่อยจะยังคงได้รับการคุ้มครอง
นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างมากที่เราได้เห็นสถาบันการเงินดั้งเดิมอีกแห่งกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจขององค์กรด้วยเทคโนโลยี Blockchain แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักเมื่อพิจารณาจากความสำเร็จของโครงการอินทนนท์ (Inthanon) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง R3 ได้มีส่วนร่วมในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ซึ่งจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การสำรวจโอกาสและศักยภาพการใช้แอปพลิเคชัน DLT เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของตลาดการเงินในประเทศไทย เราเชื่อว่าการดำเนินโครงการระยะแรกได้ช่วยสร้างกรอบการทำงานสำหรับการโอนเงินในธุรกิจค้าส่งด้วย CBDC และผลการทดสอบนี้ยังก่อให้เกิดการค้าเงินสกุลบาทและดอลลาร์ฮ่องกงแบบเรียลไทม์ระหว่างองค์การเงินตราฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง โดยโครงการนี้ยังคงดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารกลางของไทยได้ทำการวิจัยถึงการดำเนินงานขั้นต่อไปแล้ว โครงการอินทนนท์ระยะสอง จะยังคงทำการทดสอบถึงองค์ประกอบต่างๆ ต่อไป ทั้งคุณสมบัติการปรับขนาดของเทคโนโลยี ขีดความสามารถเชิงเทคนิค และสำรวจถึงประเด็นทางกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เราตั้งตารอที่จะได้เห็นผลลัพธ์และความก้าวหน้าจากการทดสอบครั้งนี้ เพราะมันสามารถนำมาใช้งานได้จริงเพื่อช่วยให้ธุรกิจในกระแสหลักประสบความสำเร็จผ่านเทคโนโลยี Blockchain
อย่างไรก็ดี R3 มุ่งแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม Blockchain แบบเดิม เพราะบริษัทตระหนักมาตั้งแต่แรกเริ่มว่าแพลตฟอร์ม Blockchain แบบเดิมๆ ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงเครือข่ายข้อมูลซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลของทุกฝ่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ก่อให้เกิดปัญหาในด้านความมั่นคงปลอดภัย การปรับเปลี่ยนขนาด และความสามารถในการทำงานร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจระดับสากล ดังนั้น R3 จึงพัฒนา Corda แพลตฟอร์ม Blockchain แบบ Open-source เพื่อแก้ไขปัญหาของแพลตฟอร์ม Blockchain แบบเดิมๆ โดย R3 กำหนดตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทให้เป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยี Blockchain แก่อุตสาหกรรมและองค์กรที่อาจจะยังรู้สึกต่อต้านหรือระแวดระวังต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ จุดมุ่งหมายของบริษัทคือการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และมอบผลลัพธ์ที่เป็นจริงและจับต้องได้ในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น R3 จึงให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารและตลาดการลงทุน และยังทำงานร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โซลูชันทั้งด้านการเงินและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket
Archives
Calendar
M | T | W | T | F | S | S |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 |